ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การกำหนดนโยบายต่างประเทศ
ความหมายของนโยบายต่างประเทศเป็นเรื่องของการกำหนดท่าทีนโยบาย
วัตถุประสงค์ และหลักการ
เพื่อกำหนดแบบแผนการปฏิบัติของประเทศในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ทั้งนี้เพื่อปกป้องและคุ้มครองรักษาผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ
ซึ่งโดยทั่วไปทุกประเทศล้วนกำหนดหลักการและวัตถุประสงค์ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของตนไว้โดยมีประเด็นสำคัญ
ดังนี้
1. การธำรงไว้ซึ่งบูรณภาพของชาติ
หลักการและจุดมุ่งหมายที่สำคัญซึ่งบรรดาประเทศทั้งหลายต่างกำหนดไว้ในแนวนโยบายต่างประเทศของตนอย่างชัดแจ้งก็คือ
การธำรงรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐ กล่าวคือ
รัฐของตนต้องมีอำนาจอธิปไตยทั้งภายในและภายนอกโดยสมบูรณ์
2. ความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศ
ประเทศต่างๆ
พยายามดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยมุ่งถึงความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศชาติเป็นสำคัญ
ซึ่งกลุ่มประเทศต่างๆ ได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อรักษาประเทศของตนให้พ้นจากภัยคุกคาม
เช่น การจัดตั้งกลุ่มประเทศอาเซียน (Association of South East Asian
Nations : ASEAN) เป็นต้น
3. การรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ในโลกยุคปัจจุบันได้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนผลิตผลและการค้าขายระหว่างประเทศกันอย่างกว้างขวาง
ซึ่งหน้าที่ของรัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องกำหนดนโยบายที่มุ่งรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศตนไว้
และมีการรวมกลุ่มประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในหมู่ประเทศตน เช่น
เขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาเหนือ (North America FREE TRADE Area : NAFTA) และสหภาพเศรษฐกิจและการเงินของยุโรป
(European Economic and Monetary Union) เป็นต้น
4. การขยายอำนาจ
ชาติมหาอำนาจมักมีนโยบายต่างประเทศที่จะพยายามแข่งขันกันขยายอำนาจของชาติออกไป
เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่าเมื่อสามารถขยายอำนาจออกไปยังประเทศอื่นให้กลายมาเป็นประเทศบริวารของตนได้ก็ย่อมจะได้พันธมิตรเพิ่มขึ้น
อันเป็นการนำมาซึ่งความมั่นคงปลอดภัยและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
5. เกียรติภูมิของชาติ
ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น
ทุกประเทศจะพยายามรักษาเกียรติภูมิของชาติของตนไว้
เพราะชาติที่มีเกียรติภูมิสูงย่อมมีอิทธิพลในด้านการเมืองระหว่างประเทศ
ประชาชนในชาติของตนจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศตน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น