มาตรการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้น
ประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนั้นย่อมไม่สามารถจะรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศกันไว้ได้
หากความขัดแย้งมีขีดความรุนแรงสูงอาจจะต้องถึงกับมีการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตก็ได้
อย่างไรก็ดี
โดยทั่วไปแล้วประเทศคู่กรณีที่เกิดความขัดแย้งนั้นไม่พึงปรารถนาที่จะปล่อยให้ความขัดแย้งมีอยู่ตลอดไป
เพราะตราบเท่าที่ยังมีความขัดแย้งอยู่ ประเทศคู่กรณีไม่อาจมีความสัมพันธ์ปกติต่อกันได้
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องแสวงหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น
สำหรับมาตรการที่ถือเป็นขนบธรรมเนียมในการแก้ไข
ความขัดแย้งนั้น มีดังนี้
1. การเจรจาโดยตรงระหว่างประเทศที่มีปัญหาต่อกัน
วิธีการนี้จะใช้ได้กับประเทศที่มีปัญหาต่อกันโดยตรง
ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นประเทศที่มีพรมแดน ติดต่อกัน
ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งกัน เช่น กรณีปัญหาชายแดนพม่าของไทย
ซึ่งทำให้รัฐบาลและผู้นำทางทหารของไทยและพม่าต้องเปิดเจรจาต่อกันเพื่อแก้ไขปัญหา
เป็นต้น
2. การประนีประนอม
เป็นมาตรการที่คู่กรณีที่มีความขัดแย้งและตกลงกันไม่ได้
ยินยอมให้ประเทศเป็นกลางหรือประเทศที่สามเข้าไปมีส่วนร่วมในการประนีประนอม เช่น
ในสงครามอินโดจีน
ประเทศญี่ปุ่นได้เสนอตัวเข้ามาเป็นผู้เจรจาประนีประนอมยุติความขัดแย้งเรื่องข้อพิพาทดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
และในปี พ.ศ. 2507
ประเทศไทยได้มีส่วนในการประนีประนอมความขัดแย้งระหว่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย
และฟิลิปปินส์
ในส่วนที่เกี่ยวกับความขัดแย้งในกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของเกาะบอร์เนียวตอนเหนือ
เป็นต้น
3. อนุญาโตตุลาการ
การใช้อนุญาโตตุลาการมักจะเป็นปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระหว่างประเทศ
กล่าวคือ คู่กรณีจะเป็นผู้ตกลงใจคัดเลือกคณะบุคคล
เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการที่จะมาเป็นผู้พิจารณาและตัดสินข้อพิพาท
4. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International
Court of Justice)
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติ
มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีข้อพิพาททางกฎหมาย
ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างประเทศที่ยอมรับอำนาจของศาลนี้ไว้เป็นการล่วงหน้า
หรือพิจารณาคดีอื่นใดที่กฎบัตรสหประชาชาติหรือสนธิสัญญาต่างๆ
ได้กำหนดไว้ว่าศาลนี้มีอำนาจพิจารณาชี้ขาดได้ หรือคดีที่คู่พิพาทร้องขอให้มีการพิจารณาชี้ขาด
บรรณานุกรม
อานนท์ อาภาภิรม. 2545. รัฐศาสตร์เบื้องต้น.
พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น